‘สานต่อธุรกิจครอบครัว’ จาก ความสำเร็จรุ่นเก๋า สู่ ความท้าทายรุ่นเจ๋ง

‘สานต่อธุรกิจครอบครัว’ จาก ความสำเร็จรุ่นเก๋า สู่ ความท้าทายรุ่นเจ๋ง

เผยมุมมองการ ‘สืบทอดกิจการครอบครัว’ ที่เปรียบเสมือนทั้ง ‘ทางลัด’ และ ‘อุปสรรค-ความท้าทาย’ ในการประสบความสำเร็จทางธุรกิจ… จะทำอย่างไร? หากผู้ส่งต่อกิจการกำลังกลัวการปล่อยมือ หรือ ผู้สืบทอดกิจการ ไม่อาจทนต่อแรงกดดันและความคาดหวังมหาศาล ทั้งจากครอบครัวและบุคลากรในองค์กรได้? และการสืบทอดความสำเร็จของกิจการครอบครัว เป็นเรื่องง่ายกว่าการเริ่มต้นจาก ‘ศูนย์’ จริงหรือ?

ลองดูคำแนะนำ วิธีรับมือ และทางออกของปัญหาเหล่านี้ จากประสบการณ์ส่วนตัวและการให้คำปรึกษากับนักธุรกิจ ทั้งรุ่นเก๋าและรุ่นเจ๋ง ไปพร้อมๆกันครับ

การส่งต่อธุรกิจครอบครัวในยุคปัจจุบัน

หากพูดถึง ‘ธุรกิจครอบครัว’ จากประสบการณ์การให้คำปรึกษาของผม แน่นอนว่าจะมีทั้งเคสที่ประสบความสำเร็จ และไม่ประสบความสำเร็จ หรืออาจจะก้ำๆกึ่งๆ จะล้มเหลวก็ไม่ แต่จะไปต่อก็ไม่ได้… ซึ่งมักจะเป็นช่วงเวลาของธุรกิจที่จะส่งต่อ โดยเจ้าของหรือผู้ก่อตั้งเริ่มมีอายุเยอะ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเผชิญกับโลกในยุคที่ปรับเปลี่ยนรวดเร็ว ด้วยการเข้ามาของระบบ Digital ทำให้ปรับตัวไม่ทัน และไม่สามารถตามทันการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคได้

ดังนั้น เมื่อเจอคู่แข่งทางธุรกิจรุ่นใหม่ๆ ที่มีความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถในการเข้าใจผู้บริโภคในยุคดิจิทัลได้มากกว่า ส่งผลให้ธุรกิจ แม้อาจจะไม่ล้ม เพราะยังมีลูกค้าประจำกลุ่มเดิมอยู่ แต่ก็ไม่สามารถเติบโตได้เช่นกัน

ทว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกค้ากลุ่มเดิมลดลง หรือเกิดการร่วงโรยตามกาลเวลา ธุรกิจก็จะเริ่มเข้าสู่ช่วง Declining Phase หรือช่วงที่ยอดขายลดลง เพราะไม่สามารถหาลูกค้ากลุ่มใหม่ได้ เนื่องจากไม่เข้าใจการหาลูกค้ากลุ่มใหม่นั่นเอง

แก้ปัญหาด้วยการ ‘เปลี่ยนมือ’ ตามยุคที่เปลี่ยนไป

ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เจ้าของธุรกิจรุ่นใหญ่ มักจะเลือกทำมี 2 ทาง คือ

1. ส่งต่อให้ผู้สืบทอดรุ่นลูกที่เต็มไปด้วยความสดใหม่ และมีความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่ได้มากกว่า เข้ามารับช่วงต่อในการเป็นผู้บริหาร เพื่อนำพาองค์กรให้เติบโตได้มากขึ้น

2. มอบหมายงานที่เกี่ยวข้องกับ Marketing, Technology หรือ Digital ที่เจ้าของธุรกิจรุ่นใหญ่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจ ออกไปให้ Agency หรือ Outsource ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากกว่ามารับผิดชอบ ซึ่งหากไม่ได้มีการเรียนรู้ไปพร้อมกัน ปัญหาเรื่องการไม่เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค ก็จะไม่ได้รับการแก้ไขต่อไปในอนาคต

ความท้าทายของ ‘การส่งต่อ’ ให้รุ่นลูกเข้ามา ‘สานต่อการบริหาร’

หากจะพูดในเรื่องของการ ส่งไม้ต่อธุรกิจและการสานต่อธุรกิจครอบครัว จากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับเจ้าของธุรกิจทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นพ่อ-แม่ และรุ่นลูก ผมขอสรุปแบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้ครับ

1. กรณีที่เป็น “Best Case”

สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ แบรนด์จะสามารถกลับมาเติบโตได้มากขึ้น เข้าใจลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ สร้างลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ จนสามารถสร้าง New S-Curve ให้กับธุรกิจได้จริง ๆ

2. กรณีที่เป็น “Fail Case”

แม้จะเกิดจากความตั้งใจจะเปลี่ยนผ่าน ตั้งใจจะส่งต่อ และตั้งใจจะรับมอบ ไม่ต่างกันกับเคสอื่น แต่อาจเกิดปัญหา ‘จูนกันไม่ติด’ ซึ่งมาจากความกังวลใจของพ่อ-แม่ ในมุมมองที่ไม่เคยเห็นถึงความตั้งใจทำงานของลูก

3. กรณีที่ “ไม่อยากสานต่อ”

หลายเคสที่พ่อ-แม่ รู้สึกมืดแปดด้าน ทันทีที่ได้ยินคำว่า “ขอไม่รับช่วงต่อ” ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมมักจะแนะนำให้พ่อ-แม่ ลองหา ‘ที่ปรึกษาด้านธุรกิจ’ ที่เชี่ยวชาญและเข้าใจ เพื่อช่วยคุณตัดสินใจจัดการกับธุรกิจ เช่น การทอดตลาด หรือขายทรัพย์สิน เพื่อปิดกิจการ ได้อย่างเป็นระบบ ระเบียบ ถูกต้อง เหมาะสม และคุ้มค่ากับคุณค่าของธุรกิจคุณที่สุด โดยไม่ฝืนใจลูก

ความท้าทายที่ต้องเผชิญ จาก ‘มุมมอง’ ที่แตกต่างกัน

ในมุมมองของพ่อ-แม่ : เมื่อถึงเวลาต้องให้มารับสืบทอดอาณาจักรที่เราตรากตรำสร้างขึ้นมา กว่าจะมาถึงในวันที่มียอดขายมูลค่า 10 ล้าน 100 ล้าน 1,000 ล้าน จึงไม่แปลกหากจะเกิดเหตุการณ์ที่ พ่อ-แม่ จะส่งมอบแบบ ‘ครึ่งๆ กลางๆ’ เหมือนจะปล่อยวาง แต่ก็อาจกำลัง ‘ก้าวก่ายโดยไม่รู้ตัว’ เพราะอดไม่ได้ที่จะเข้าไปช่วยสอนหรือช่วยตัดสินใจ เพราะยังไม่อาจปล่อยมือแบบ 100% นั่นเองครับ

ในมุมมองของลูก : เมื่อถึงเวลาตกลงรับช่วงต่อธุรกิจ แน่นอนว่าต้องมีความ ‘ตั้งใจ’ อยากจะช่วยพ่อ-แม่ เพราะเคยเห็นทั้งความตั้งใจ ความยากลำบาก และความเหนื่อยของรุ่นพ่อ-แม่มาก่อน แต่เมื่อถึงเวลาต้องรับ ‘กุญแจ’ ของธุรกิจมาจริง ๆ กลับไม่สามารถใช้ได้ หรืออาจจะมีเหตุการณ์ ‘ไขกุญแจถูกบ้าง-ผิดบ้าง’ ซึ่งเป็นธรรมดาของมนุษย์ที่ต้องทำในสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำ

ลองปล่อยมือจาก ‘แฮนด์จักรยาน’ มาจับ ‘ท้ายจักรยาน’ บ้างหรือยัง?

เมื่อผู้รับสืบทอดกิจการหรือลูกของคุณ เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น ความพยายาม และความตั้งใจในการเสนอไอเดียต่างๆ อย่างเต็มที่ ทว่า สิ่งที่ได้รับจากคนรุ่นใหญ่หรือพ่อ-แม่ คือ การมองข้าม และไม่ยอมรับไอเดียเหล่านั้น อาจจะด้วยเหตุผลจากประสบการณ์ที่ผ่านมาที่เคยทำแล้ว ไม่เวิร์ค หรือ ไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดี จนกลายเป็นการปิดกั้นความคิด การตัดสินใจ และความมั่นใจของลูกไปโดยปริยาย

สิ่งที่พ่อ-แม่ ควรทำ คือ หากคุณต้องการให้ลูกขี่จักรยานเป็น อย่านั่งสอนให้ขี่จักรยานบนโต๊ะข้าวหรือห้องประชุม แต่สอนให้ขี่จักรยานข้างนอก ลองปล่อยให้ล้ม แล้วค่อยช่วงประคองก็ยังไม่สาย ซึ่งการทำธุรกิจก็เช่นกัน หากคุณอยากให้ลูกตัดสินใจได้ คิดเองได้ ทำธุรกิจเป็น แต่พ่อ-แม่ ยังคอยบงการทุกอย่าง ทุกความคิด แน่นอนว่าผลลัพธ์จะไม่มีทางเป็นไปตามที่หวังได้

ดังนั้น หากคุณต้องการส่งผ่านธุรกิจจริงๆ ต้องกล้าที่จะให้เกิดการลองผิด-ลองถูก โดยอาจเริ่มจากเรื่องเล็กๆ แล้วค่อยๆ ไล่ขึ้นไปเรื่องใหญ่ๆ กำหนดกรอบการทำงานให้ชัดเจน กำหนดขีดความเสียหายที่สามารถยอมรับได้ แล้วจึงให้อำนาจผู้สืบทอดหรือลูก ไปลองคิด ลองทำ ลองตัดสินใจ ด้วยแรงผลักดันจากความเชื่อมั่นจากครอบครัวเป็นอันดับแรก

3 คำที่ห้ามลืม ก่อนส่งต่อกิจการ

คำว่า “พร้อมหรือยัง?” คือ 3 คำที่สามารถพ่วงมาด้วยปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวในอนาคตได้ ซึ่งโดยปกติ การส่งมอบอะไรบางอย่างให้บุคคลอื่น สิ่งที่ควรทำคือ ‘ความสมัครใจ’ หรือ ‘ความเต็มใจ’ ของผู้รับ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะส่งต่อกิจการ คำถามสำคัญที่รุ่นพ่อ-แม่ ควรถามลูก คือ “กิจการที่จะรับไปพร้อมกับความคาดหวังและกดดัน คือสิ่งที่พร้อมจะรับหรืออยากได้หรือเปล่า?”

เมื่อลูกไม่อยากเป็น “ผู้นำ” แต่จำเป็นต้อง “รับช่วงต่อ”

ผมมองว่า หากลูกสามารถยอมรับการเป็นที่ 2 ในองค์กรได้ ทางออกแรกที่ง่ายที่สุด คือ การขายหุ้นบางส่วน และให้หุ้นส่วนเข้ามาเป็นผู้บริหาร หรือทางที่สอง คือ จ้างผู้บริหารมืออาชีพ เข้ามาเป็นผู้บริหารในองค์กรแทน หรือทางที่สาม คือ เอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ มีบอร์ดบริหารมืออาชีพ มีนักลงทุนเข้ามาถือหุ้น ส่วนเจ้าของธุรกิจก็สามารถถอยออกมาเป็นผู้ถือหุ้นร่วมได้ โดยไม่ต้องให้ลูกบริหาร แต่ยังคงสถานะเป็นเจ้าของกิจการเช่นเดิม ซึ่งมีหลายครอบครัวที่เลือกใช้วิธีนี้เช่นกัน

ทั้ง 3 ทางออกข้างต้น เป็นเพียงความคิดเห็นจากผมเท่านั้นนะครับ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องที่สุด แต่ผมเชื่อว่า จะสามารถทำให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้ โดยที่ทุกคนในครอบครัว ‘มีความสุข’ ครับ

ธุรกิจไม่สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ ต้องทำอย่างไร?

ลองพิจารณาจากสถานการณ์ของกิจการก่อนครับ เช่น สถานการณ์ปัจจุบัน กิจการยังมีกำไรหรือขาดทุนอยู่ไหม? มีหนี้ที่ต้องชำระหรือไม่? หรือ ไม่มีหนี้ และเป็น Positive Cash Flow สามารถทำกำไรได้ทุกเดือน ซึ่งหากลูกไม่อยากรับสืบทอดกิจการ ก็อาจพิจารณาตัดสินใจ ‘ปิดกิจการ’ ได้

ขณะเดียวกัน หากในกรณีที่กิจการติดลบ มีหนี้สิน และยังเป็น Negative Cash Flow อยู่ทุกเดือน สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกคือ หาหนทางการชำระหนี้ แก้ไขให้เป็น Positive Cash Flow ก่อน แล้วจึงค่อยพิจารณาเรื่องการส่งต่อธุรกิจหรือปิดกิจการต่อไปในอนาคต

ฝาก ‘กำลังใจ’ ให้ผู้สืบทอดกิจการ

ผมมองว่า ณ ปัจจุบันที่คุณมีทั้ง ทางเลือก และเครื่องไม้เครื่องมือ ที่จะช่วยคุณต่อยอดสร้างธุรกิจเยอะแยะมากมาย และสิ่งสำคัญที่สุด คือ กำลังใจ ผมเชื่อว่า “ไม่มีอะไรภายใต้ดวงอาทิตย์ดวงนี้ ที่มนุษย์ตั้งใจแล้วทำไม่ได้”

ผมเข้าใจดีว่า การรับสืบทอดธุรกิจ มักมาพร้อมกับความกดดันมหาศาล ในการรับผิดชอบดูแลอาณาจักรที่พ่อ-แม่ หรือบรรพบุรุษรุ่นแรกได้สร้างขึ้นมา แน่นอนว่า การเริ่มต้นต่อยอดธุรกิจ คือสิ่งที่ง่ายกว่าการเริ่มต้นจาก ‘ศูนย์’ ทว่า ในขณะเดียวกัน ความยากของการสืบทอดธุรกิจ ก็คือ การบริหารจัดการ ‘ความกดดันและความคาดหวังของครอบครัว’ ที่ต้องอาศัยแรงใจอันแข็งแกร่ง ในการเอาชนะกับภายในจิตใจและความคิดของตัวเอง

หากคุณมองว่า ความกดดันเหล่านั้นไม่ใช่อุปสรรค เรียนรู้ที่จะเปลี่ยนความท้าทาย ให้กลายเป็นความสนุก และมีความสุขในทุกวัน สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยให้นักบริหารมือใหม่ หรือผู้สืบทอดกิจการรุ่นใหม่ สามารถนำพาองค์กรให้เติบโตในแบบเจ๋งๆ ได้ไม่แพ้ความสำเร็จของรุ่นเก๋า แน่นอนครับ