เคล็ดลับ “Varinda” ทำ Branding ให้ธุรกิจร้านกาแฟไม่จม แม้คู่แข่งล้นตลาด

เคล็ดลับ “Varinda” ทำ Branding ให้ธุรกิจร้านกาแฟไม่จม แม้คู่แข่งล้นตลาด

เผยมุมมองและล้วงเคล็ดลับการทำธุรกิจร้านกาแฟจาก คุณมิกซ์ – คุณนุ่น เจ้าของแบรนด์กาแฟพรีเมียม จากคนที่ไม่ดื่มกาแฟ สู่การสร้างแบรนด์ “Varinda Specialty Coffee” ให้เป็น Community สำหรับคนรักกาแฟ ที่ไม่มีเมนู Signature ไม่เคยลดราคา และไม่คิดจะทำ Marketing แต่สามารถพาธุรกิจให้เติบโตและไปต่อได้ด้วย “Branding” ที่แข็งแกร่ง

☕️ จุดเริ่มต้นของ Varinda Specialty Coffee

เริ่มต้นจากคุณมิกซ์ที่เริ่มจากการอยากทำธุรกิจของตัวเอง ซึ่งเป็นช่วงที่ Specialty Coffee กำลังเป็นที่รู้จักในประเทศไทย จึงมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งจากเดิมเป็นคนที่ไม่ดื่มกาแฟเลย เพราะไม่ว่าพยายามลองกี่ครั้ง ก็รู้สึกว่า ‘ไม่เคยอร่อย’ จนกระทั่งมาเจอกับ Specialty Coffee ที่หลังจากได้ลองแล้วกลับรู้สึกว่า ‘Relax’ และ ‘Enjoy’ อย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน

ดังนั้น คุณมิกซ์จึงรู้สึกว่า หากจะทำกาแฟขึ้นมา ก็อยากเลือกทำกาแฟที่เป็นมากกว่าแค่ทำให้ ตื่น แต่ทำให้ทานแล้วรู้สึก ‘Enjoy’ ได้ค้นหาอะไรบางอย่าง เช่น กลิ่น รสชาติ และประสบการณ์การดื่มที่มีมากกว่า

ส่วนคุณนุ่น ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ด้วยความที่ยังหาซื้อกาแฟ Specialty Coffee ได้ยาก จึงเลือกดื่มกาแฟนมเป็นหลัก จนได้ตัดสินใจทำธุรกิจร่วมกัน ด้วยเหตุผลหลัก คือ อยากทำธุรกิจเป็นของตัวเอง

แน่นอนว่าหลังจากเริ่มทำไปเรื่อยๆ ก็คิดว่าอยากมี Character เป็นของตัวเองจริงๆ และจะคั่วกาแฟเองด้วย ขณะเดียวกัน ก็เป็นช่วงที่เทรนด์เรื่องนี้กำลังมาแรงขึ้นเรื่อยๆ จึงตัดสินใจได้ว่าจะ เปิดร้านกาแฟ

☕️ ปัญหาที่คน ‘ไม่ดื่มกาแฟ’ แต่ ‘เปิดร้านกาแฟ’ ต้องเจอ

แน่นอนว่าปัญหานี้ เป็นของคุณมิกซ์ที่เมื่อตัวเองไม่ดื่มกาแฟ ก็จะไม่ทราบเลยว่าคนอื่น ๆ ที่ทานกาแฟจะตัดสินว่า รสชาติแบบนี้ เรียกว่าอร่อยหรือไม่? ซึ่งอย่างเดียวที่จะทดสอบ เพื่อตอบข้อสงสัยได้ คือ ต้องเปิดร้านก่อน หากลูกค้ามาทานแล้วกลับมาซื้อซ้ำ คำตอบก็คือใช่ แน่นอนว่า เมื่อมาทำร้านจริงๆ คุณนุ่นคิดว่าความยาก คือ เราต้องสนใจ ‘ความรู้สึก’ ของลูกค้าเป็นหลัก

☕️ เมื่อไหร่ที่คนจำ คำว่า “Varinda” ได้ ก็จะจำได้ตลอดไป

ความท้าทายแรกของการเริ่มสร้างแบรนด์ คือ จะตั้งชื่อแบรนด์อย่างไรให้ลูกค้าจดจำ ซึ่งทั้ง 2 คน ตัดสินใจเลือกคำว่า “Varinda” เกิดจากการผสมผสานระหว่างคำว่า ‘Va-’ จากคำขึ้นต้นนามสกุลของคุณมิกซ์ คือ ‘วศินระพี’ และ ‘-rinda’ คำลงท้ายจากชื่อจริงของคุณนุ่น คือ ‘รินรดา’ ซึ่งรวมกันเป็นชื่อแบรนด์ “Varinda Specialty Coffee” ที่แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณและความเป็นตัวตนของทั้งคู่ลงไปด้วยนั่นเอง

☕️ จุดยืนที่มั่นคง ในวันที่คู่แข่ง Specialty Coffee ล้นตลาด

จากวันที่ร้านกาแฟ Specialty หายาก สู่วันที่หาได้ทั่วเกือบทุกหัวมุมถนน คุณมิกซ์กล่าวว่า สิ่งที่จะทำให้ Varinda ไม่จม โดดเด่น และแตกต่างจากร้านอื่น คือ “เราจะไม่ยอมเสิร์ฟอะไรที่หลุด Standand ให้ไปถึงมือลูกค้าเด็ดขาด” เพราะฉะนั้น ลูกค้าสามารถมั่นใจได้ว่า “เมื่อไหร่ก็ตามที่มีคำว่า Varinda อยู่ แปลว่า คุณสามารถไว้ใจได้ แน่นอน 100%”

☕️ คำนิยามความ Specialty Coffee ในสไตล์ของ Varinda

หากจะพูดถึงความ Specialty ในมุมของ Varinda คุณมิกซ์มองว่า Specialty = Testability นั่นหมายความว่า เมื่อคุณได้ลองลิ้มรสกาแฟแก้วหนึ่ง ก็ควรจะได้ทราบด้วยว่า กาแฟในแก้วมีแหล่งที่มาจากที่ไหน? ใครเป็นคนคั่ว? ใครเป็นคนปลูก? หรือแม้กระทั่ง ปลูกเมื่อไหร่? เก็บเกี่ยวเมื่อไหร่? นั่นเพราะว่า ความตั้งใจในการมี Specialty Coffee Association ขึ้นมาในโลก ก็เพื่อช่วยพัฒนา Supply Chain ตั้งแต่ปลายน้ำถึงต้นน้ำ ก็คือ เกษตรกร

ซึ่งหน้าที่ของ Varinda คือ จะทำอย่างไร? ให้กาแฟเหล่านั้นออกมาเป็น Character ตามที่ผู้ปลูกอยากให้เป็นได้ดีที่สุด

☕️ ท้าทายความกลัว เอาชนะด้วย “ความรู้และประสบการณ์”

คุณมิกซ์เผยมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจจากคนที่ไม่ดื่มกาแฟว่า ความกลัวก็เรื่องหนึ่ง เพราะ Specialty Coffee มีราคาสูงกว่ากาแฟในตลาดทั่วไป แต่ในเมื่อเรายินดีที่จะจ่ายในราคานี้ ก็เชื่อว่าต้องมีคนที่คิดเหมือนเรา เพื่อตามหาและลิ้มรสชาติแบบนี้เช่นกัน

จากที่ไม่เคยรู้เลยว่า รสขมของกาแฟ เกิดมาจากอะไร? ซึ่งพอมาเริ่มศึกษาจริงๆ จึงได้รู้ว่ากาแฟที่ไม่มีรสขม เกิดจากการเก็บให้ดี คั่วให้ดี และชงให้ดี ซึ่งนั่นคือโจทย์ของคุณมิกซ์ว่า จะต้องทำอย่างไร? จึงจะรักษามาตรฐานเหล่านี้ไว้ได้ตลอดเวลา

เพราะคำว่า รสชาติ แม้จะอ่านหนังสือทฤษฎีมากมายเท่าไหร่ ตราบใดที่ไม่มีใครมาบอกว่า รสชาติ แบบนี้เรียกว่าอะไร? เราก็จะไม่มีทางรู้มาตรฐานเหล่านั้นจริง ๆ

หลังจากได้เรียนรู้จากเพื่อนอิตาลีคนหนึ่งที่มาช่วยไกด์ว่า รสชาติแบบนี้คืออะไร? เกิดขึ้นจากกระบวนการไหน? และจะต้องแก้ไขอย่างไร? ก็ทำให้ทั้งคุณมิกซ์และคุณนุ่นสามารถเก็บประสบการณ์มาเรื่อย ๆ จนถึงวันที่รู้สึกว่า ‘อยากเพิ่ม Standand ของตัวเองให้มากขึ้น และคอนเฟิร์มว่าการรับรสของตัวเองถูกต้องมากน้อยแค่ไหน?’

☕️ เริ่มต้นเส้นทางการทดสอบ ‘Q Grader ’ สู่ ‘คว้าแชมป์’ การแข่งขันระดับประเทศ

คุณมิกซ์เริ่มด้วยการสอบ Q Grader* เพื่อรับรองการเป็นนักชิมกาแฟ สู่การคว้า Champion of Diedrich Specialty Coffee Roasting Competition of Thailand 2020 มาเป็นแชมป์แรก และคว้าแชมป์คู่ รางวัล Champion of Thailand Coffee Profiling Challenge 2022

ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้ เปิดมุมมอง และสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ ในโลกของกาแฟ โดยเริ่มจากคุณมิกซ์มุ่งมั่น ตั้งใจ เรียนรู้ และลงมือลองคั่วกาแฟในปีแรก มากกว่า 2,000 Batch เพื่อให้เห็นทุกการเปลี่ยนแปลงว่าจะส่งผลต่อรสชาติอย่างไร? แน่นอนว่าไม่ใช่ทุก Batch ที่คั่วแล้วจะนำไปขายได้จริง ดังนั้น ต้นทุนที่เสียก็ไม่น้อยเช่นกัน

☕️ Every cup has it’s own story

เมื่อถามว่าอะไรทำให้ Varinda กล้าลงทุน คุณมิกซ์พูดประโยคหนึ่งที่ชอบมาก ๆ คือ “Every cup has it’s own story” ในเมื่อกาแฟทุกแก้วมีเรื่องราวของตัวเองอยู่ จึงอยากเสิร์ฟกาแฟแก้วที่สามารถเล่าเรื่องราวของตัวเองได้ดีที่สุด ดังนั้น ความตั้งใจของ Varinda คือ Keep position ให้เป็นแบรนด์ที่เสิร์ฟกาแฟที่มีคุณภาพสูงเท่านั้น

☕️ Quality meet Standards ด้วย ‘Data’ ไม่ใช่ ‘ความรู้สึก’

สิ่งหนึ่งที่ทำให้การลงทุนคั่วเมล็ดกาแฟของ Varinda ไม่สูญเปล่า คือ ข้อมูล (Data) คุณนุ่นกล่าวว่า การคั่วเมล็ดกาแฟของคุณมิกซ์แต่ละ Batch จะมีการเก็บ Data ไว้เสมอ เพื่อให้เมล็ดกาแฟที่ออกมาไม่ Compromise quality และ Consistency จริง ๆ โดยรับรองได้ด้วยตัวเลขและ Data มากกว่าการใช้ความรู้สึกตัดสิน

☕️ Varinda ไม่ลดราคา ไม่มี Signature ไม่อวดรางวัล ไม่ทำ Marketing

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คุณมิกซ์วาง Positioning ของแบรนด์ Varinda ไว้ว่าจะ “ไม่มีส่วนลดและไม่ลดราคา” เพื่อสร้างภาพจำว่า คือ แบรนด์พรีเมียม และตราบใดก็ตามที่ Varinda มีสินค้ามานำเสนอ นั่นหมายความว่า “Varinda เลือกให้แล้ว”

ส่วนเหตุผลที่ Varinda ไม่มีเมนู Signature เพราะ อยากให้ลูกค้าได้เข้ามาลอง “กาแฟที่เป็นกาแฟจริง ๆ” นั่นหมายความว่า อยากให้ลูกค้าสัมผัสถึง Character ของเมล็ดกาแฟที่อยากทานจริง ๆ มากกว่าเสิร์ฟกาแฟตามสูตรที่มีอยู่ ซึ่งจะทำให้ลูกค้ารู้สึกสนุกกับการค้นหารสชาติกาแฟของตัวเองมากกว่า

นอกจากนี้ แม้ทั้งคุณมิกซ์และคุณนุ่น จะผ่านการคว้าแชมป์ระดับประเทศมาทั้งคู่ แต่กลับไม่คิดจะใช้เรื่องนี้เป็นภาพจำของแบรนด์ Varinda เพราะมองว่า ไม่อยากให้ลูกค้าคาดหวังมากจนเกินไปเช่นกัน

☕️ อนาคตของ Varinda ที่เป็นมากกว่าร้านกาแฟ

คุณมิกซ์และคุณนุ่นคาดว่าในอนาคต Varinda จะสามารถเป็นศูนย์กลางของคนรักกาแฟได้ โดยปัจจุบันเริ่มสร้าง Community ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำ ทั้งเรื่องอุปกรณ์และเมล็ดกาแฟ รวมถึงทุกเรื่องราวของ “Specialty Coffee” สำหรับคนที่สนใจอยากเรียนรู้เรื่องกาแฟตั้งแต่เริ่มต้นได้อย่างครบวงจร

หลังจากที่เราได้คุยกับคุณมิกซ์และคุณนุ่น สิ่งที่ผมได้เรียนรู้และอยากแชร์ให้ทุกท่านเรียนรู้ไปพร้อมกัน คือ

1. แม้จะไม่มีพื้นฐานการทำธุรกิจใดๆ มาก่อน แต่การศึกษา หาข้อมูล เรียนรู้ และลงมือทำ

อย่างที่คุณมิกซ์และคุณนุ่นได้ลองผิด ลองถูก และเรียนรู้ที่จะใช้ Data ในการพัฒนา Product ให้เป็นสูตรของ Varinda เองที่ไม่ Compromise quality คือสิ่งที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

2. เงินทุนไม่เยอะไม่ใช่ปัญหาเสมอไป

เพราะการทำ Branding ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะ แต่ใช้ความทุ่มเท ตั้งใจ สนุก และพร้อมเรียนรู้กับการแก้ไขปัญหาไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะ SMEs หากอยากประสบความสำเร็จ และลูกค้าจดจำตัวตนของเราได้ สิ่งสำคัญคือการ รักษาจุดยืนและตัวตนอย่างจริงจัง ตั้งใจ และต่อเนื่อง

3. ในมุมของ Business Model Canvas การวาง Key Partner และ Cost Structure สำคัญมากๆ

เพราะ การมี Partner ที่ดี คือแต้มต่อทางธุรกิจของ SMEs ที่มีทรัพยากรจำกัด และสามารถนำจุดแข็งของตัวเองและพาร์ทเนอร์ มาร่วมสร้าง Product ที่มีคุณค่าใหม่ๆ ให้กับลูกค้าได้ ส่วน Cost Structure ที่แม่นยำ ก็จะยิ่งสามารถทำให้ธุรกิจของคุณอยู่รอดและเติบโตได้อย่างมั่นคงมากขึ้น

ขอขอบคุณการแชร์ข้อมูลและประสบการณ์ดีๆ จาก : คุณมิกซ์-พีระศิน วศินระพี และคุณนุ่น-รินรดา กาญจนวงศ์ไพศาล เจ้าของธุรกิจร้านกาแฟ สามารถติดตามและเข้าไปใช้บริการ ลิ้มรสกาแฟ Specialy Coffee ได้ทาง Facebook : Varinda Coffee Roaster, IG : Varinda.coffee.roaster และหน้าร้าน Varinda Specialty Coffee ครับ

* หมายเหตุ Q Grader คือ ใบรับรองที่ออกให้โดย Coffee Quality Institute (CQI) ซึ่งจะมอบให้กับผู้ที่ผ่านการอบรม และการสอบการพิจารณาคุณภาพของเมล็ดกาแฟ ภายใต้มาตรฐานของ CQI เพื่อการันตีว่าสามารถอธิบายลักษณะ จำแนกคุณภาพกาแฟแต่ละตัว และสามารถสื่อสารถึงลักษณะของกาแฟ กับบุคคลในวงการกาแฟด้วยศัพท์เฉพาะได้ถูกต้อง – ที่มา : www.scith.coffee